สิ่งที่เห็นจริง vs ภาพจากอินเตอร์เน็ต

เคยสงสัยไหมครับว่าวัตถุบนท้องฟ้าที่เห็นผ่านกล้องดูดาวนั้น ทำไมจึงไม่มีสีสันสวยงามสดใสเหมือนกับภาพที่เราเห็นตามอินเตอร์เน็ต?

คำตอบก็คือ "มันเป็นข้อจำกัดของตามนุษย์"

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตในเวลากลางวัน
ดังนั้นตาของเรานั้นจึงถูกออกแบบมาให้ใช้มองเห็นได้ดีในเวลากลางวัน

จอประสาทตาของเราประกอบไปด้วยเซลล์รูปแท่ง [rod cells] ที่ไวต่อแสงที่มีความเข้มน้อย ทำให้เราเห็นภาพเป็นขาวดำ และเซลล์รูปกรวย [cone cells] ที่ไวต่อแสงที่มีความเข้มมาก ทำให้เราเห็นภาพเป็นสี

ในที่แสงสลัวเราจะมองเห็นวัตถุเป็นขาวดำเนื่องจากแสงมีความเข้มไม่พอไปกระตุ้นให้เซลล์รูปกรวยทำงานได้ แต่ในที่สว่างๆ เราจะมองเห็นวัตถุเป็นสีเพราะแสงมีความเข้มมากพอ

คราวนี้เมื่อเราส่องดูวัตถุบนท้องฟ้าเช่นเนบิวลาหรือกาแลกซี่ วัตถุเหล่านี้มีความสว่างน้อยมาก เราจึงมองเห็นวัตถุดังกล่าวเป็นขาวดำ มีเพียงดาวเคราะห์และดาวฤกษ์เท่านั้นที่สว่างพอ และทำให้เรามองเห็นเป็นสีได้

ส่วนภาพต่าง ๆ ที่เห็นตามอินเตอร์เน็ตนั้นเกิดจากการเปิดหน้ากล้องไว้นาน ๆ ทำให้เซ็นเซอร์ของกล้องรับความเข้มแสงสีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนภาพเป็นสี ซึ่งตาเราไม่ได้ทำงานแบบเซ็นเซอร์กล้องถ่ายรูป

นอกจากนี้ภาพทางดาราศาสตร์บางภาพ เช่น ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เป็นการถ่ายภาพแบบเก็บข้อมูลของของวัตถุแล้วนำมากำหนดสีใส่เพิ่มเติมทีหลังให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของวัตถุนั้น ๆ ทำให้เราเห็นภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าเป็นสีได้เช่นกัน

แม้ว่าเราจะไม่เห็นวัตถุบนท้องฟ้าเป็นสี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่สวยงาม ความระยิบระยับของดาว ฝุ่นและก๊าซโดยรอบที่เรืองแสง กระจุกดาว หรือกาแลกซี่ ที่มองเห็นผ่านกล้องดูดาวนั้น มีความสวยงามเกินกว่าจะมีสิ่งใดบนโลกเปรียบเทียบได้

ภาพด้านล่างภาพแรกเป็น Orion Nebula ที่มองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ (credit อยู่ในภาพนะครับ) ส่วนภาพที่สองวัตถุเดียวกันแต่เห็นเป็นสี เป็นภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลโดย NASA

โอไรออนเนบิวลาที่เห็นจากกล้องโทรทรรศน์ (perezmedia)

โอไรออนเนบิวลา ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble (NASA)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รายชื่อกลุ่มดาว 88 กลุ่ม

ดาวประจำเมือง / ดาวโต้รุ่ง / ดาวประกายพรึก