การเคลื่อนที่ของดวงดาวประจำวัน (Diurnal Motion)

การเคลื่อนที่ของดาวประจำวัน (diurnal motion) คือการเคลื่อนที่ของดาวบนท้องฟ้าที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ถ้าเข้าใจการเคลื่อนที่ประจำวันของดาว จะทำให้เข้าใจการเปลี่ยนตำแหน่งของดาว สามารถใช้แผนที่ดาวและสามารถตั้งกล้องดูดาวได้

ในการศึกษาการเคลื่อนที่ของดวงดาวประจำวัน จะสมมติให้ดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้า อยู่ห่างจากโลกเท่ากัน และอยู่บนทรงกลมที่เรียกว่า ทรงกลมฟ้า (celestial sphere) มีขั้วโลกเหนือชี้ไปที่ ขั้วฟ้าเหนือ (north celestial pole) และขั้วโลกใต้ชี้ไปที่ ขั้วฟ้าใต้ (south celestial pole)  มีศูนย์สูตรฟ้า (celestial equator) อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรของโลก

ทรงกลมฟ้า คือทรงกลมพลาสติกในรูป โลกของเราอยู่ใน ทรงกลมฟ้า
แกนเหล็กที่ออกจาก ขั้วโลกเหนือ ไปแตะ ทรงกลมฟ้า ที่ ขั้วฟ้าเหนือ
แกนเหล็กที่ออกจาก ขั้วโลกใต้ ไปแตะ ทรงกลมฟ้า ที่ ขั้วฟ้าใต้
รอยประกอบกันของทรงกลมพลาสติกคือ เส้นศูนย์สูตรฟ้า อยู่เหนือ เส้นศูนย์สูตรโลก

โลก...หมุนรอบตัวเองแบบทวนเข็มนาฬิกาเมื่อมองจากขั้วโลกเหนือ คนบนโลกจึงมองเห็นดาวเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม หรือเหมือนกับว่าทรงกลมฟ้ากำลังหมุนรอบตัวเองแบบตามเข็มนาฬิกา

การที่ดาวเคลื่อนที่เช่นนี้ คนที่อยู่ละติจูดต่างกัน จะเห็นการเคลื่อนที่ของดาวบนท้องฟ้าต่างกัน ซึ่งจะอธิบายด้วยดาวเหนือ (สีเหลือง) และดาวอีกหนึ่งดวง (สีแดง) ที่อยู่เลยศูนย์สูตรฟ้ามาทางเหนือเล็กน้อย และจะพิจารณาดาวทั้งสองดวงนี้ขณะอยู่บนเส้นเมอริเดียน (Meridian) เส้นที่ลากจากทิศเหนือไปทิศใต้และผ่านจุดยอดฟ้า

คนที่อยู่ขั้วโลกเหนือ จะเห็นขั้วฟ้าเหนือและดาวเหนือ (Polaris/North Star) ที่จุดยอดฟ้า (จุดเหนือศีรษะ, 90 องศา) เมื่อโลกหมุนรอบตัวเอง ดาวเหนือจะอยู่กับที่ ส่วนดาวสีแดงในรูปจะเคลื่อนที่เป็นวงกลมไปรอบ ๆ ไม่ขึ้นและไม่ตกดิน

คนอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ เห็นดาวเหนืออยู่ที่จุดยอดฟ้า ดาวสีแดงเคลื่อนที่เป็นวงกลมไปรอบ ๆ ที่ 10 องศา จากขอบฟ้า

คนที่อยู่ละติจูด 60 องศาเหนือ จะเห็นดาวเหนืออยู่สูงจากขอบฟ้า 60 องศา และดาวสีแดงอยู่สูงจากขอบฟ้า 40 องศา (ดาวสองดวงนี้ยังห่างกัน 80 องศาเท่าเดิม) จะเห็นว่าเส้นการเดินทางของดาวสีแดงส่วนหนึ่งหายไปเพราะอยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า ทำให้มองเห็นดาวสีแดงขึ้นและตกได้

คนที่ละติจูด 60 องศาเหนือ เห็นดาวเหนือสูงจากขอบฟ้า 60 องศา ดาวสีแดงสูงจากขอบฟ้า 40 องศา

คราวนี้ลองมาดูการเคลื่อนที่ของดาวที่ประเทศไทยกันบ้าง สมมติว่าอยู่กลาง ๆ ประเทศ ละติจูดประมาณ 15 องศาเหนือ ดังนั้นจะเห็นดาวเหนืออยู่สูงจากขอบฟ้า 15 องศา และเห็นดาวสีแดงอยู่สูงจากขอบฟ้า 85 องศา สังเกตดูว่าดาวทั้งสองดวงนี้ยังคงอยู่ห่างกัน 80 องศา เท่าเดิม

ที่ประเทศไทยดาวเหนือสูงจากขอบฟ้า 15 องศา และดาวสีแดงอยู่สูงจากขอบฟ้า 85 องศา

จะเห็นว่าตำแหน่งของดาวเหนือนั้นอยู่สูงจากขอบฟ้าเป็นองศาเท่ากับละติจูดของผู้สังเกต และการที่ดาวดวงอื่นเคลื่อนที่เป็นวงกลมรอบดาวเหนือ ทำให้ตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้าต่างกันไปในแต่ละละติจูด ดังนั้นการเลือกใช้แผนที่ดาวจะต้องดูว่าแผนที่ดาวดังกล่าวออกแบบมาให้ใช้สำหรับละติจูดที่เท่าไหร่ และการตั้งกล้องดูดาวที่ต้องมีการทำ polar alignment ก็ต้องมีการปรับกล้องดูดาวให้เหมาะสมกับละติจูดเพื่อให้กล้องดูดาวสามารถตามดาวได้

ดาวเคลื่อนที่รอบดาวเหนือ ภาพถ่ายต่อเนื่อง 7+ ชม.
ช่างภาพ LCGS Russ CC BY-SA 3.0 via Wikimedia



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รายชื่อกลุ่มดาว 88 กลุ่ม

ดาวประจำเมือง / ดาวโต้รุ่ง / ดาวประกายพรึก